คำถามที่ได้ยินบ่อยๆจากผู้ประกอบการ สมัยที่ผมทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชี และภาษีก็คือ “ควรจะจด VAT ดีมั้ย?” ผมคิดว่าคำถามสุด classic นี้น่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจหลายๆคน จึงได้ทำสรุปมาให้อ่านกัน

ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ก็คือภาษีที่ผู้ขายเรียกเก็บจากผู้ซื้อ เพิ่มไปในราคาสินค้า/บริการโดยหลักการแล้วเป็นภาษีทางอ้อม ก็คือเก็บจากผู้บริโภค ไม่ใช่ผู้มีรายได้ (ผู้ขาย) แต่ผู้ขายมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยรัฐเก็บภาษีนี้ และนำส่งให้สรรพากรตามเวลาที่กำหนด

 

ทำไมต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม?

1. กฎหมายบังคับ

ถ้าคุณมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท (จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็แล้วแต่) จากการประกอบกิจการ คุณ “ต้อง” จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มครับ ไม่มีทางเลือก

สำหรับผู้ที่ได้รับยกเว้น (เช่น รายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท หรืออยู่ในธุรกิจที่ได้รับการยกเว้น) คุณสามารถ “เลือก” ได้ว่าจะจดหรือไม่ และมาดูข้อต่อๆไปที่อาจจะเป็นเหตุผลในการจด VAT

2. คุณสามารถขอคืน VAT ได้

ถ้าธุรกิจที่คุณทำอยู่มีการซื้อสินค้า หรือมีค่าใช้จ่ายที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ซื้อของมาเพื่อขาย หรือต้องไปจ้างกิจการอื่นที่เค้าจด VAT และเรียกเก็บ VAT กับคุณ คุณก็ควรจะเรียกเก็บ VAT ด้วย เพราะว่าถ้าคุณไม่จด VAT คุณจะไม่สามารถขอคืน VAT ที่ผู้ขายเก็บกับคุณ หรือที่เรียกว่า “ภาษีซื้อ” ได้ ซึ่งมันจะช่วยลดต้นทุนของคุณได้ถึง 7% เลยทีเดียว

3. ความน่าเชื่อถือทางธุรกิจ

หลายๆครั้งบางธุรกิจต้องการให้คุณแสดงเอกสารเช่น ภพ.20 หรือเอกสารที่แสดงว่าคุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ก่อนที่จะเริ่มทำธุรกิจกัน เพราะว่าธุรกิจของคุณเป็นที่น่าเชื่อถือขึ้น ดูมีตัวตน และอยู่ในระบบของสรรพากร เพราะกว่าสรรพากรจะให้เอกสารนี้กับคุณ เค้าก็มีการตรวจสอบการมีตัวตนของคุณก่อน

4. ลูกค้าบางคนต้องการใบกำกับภาษี

บางครั้งลูกค้าก็ต้องการซื้อสินค้าที่มีใบกำกับภาษี เพราะว่าต้องการนำใบกับกับภาษีขายของเราไปเป็นใบกำกับภาษีซื้อของเค้า เพื่อลดภาระภาษีที่ต้องจ่าย (แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว ไม่มี VAT จะถูกกว่า)

 

ทำไมไม่ควรจดภาษีมูลค่าเพิ่ม?

ถ้าคุณมีทางเลือกว่าจะจด หรือไม่จดก็ได้ ข้อต่อๆไปนี้อาจจะเป็นเหตุผลที่ชวยสนับสนุนคุณว่าไม่ต้องจด

1. จดลำบาก เสียเวลา

จริงๆมันก็ไม่ได้ยากอะไรขนาดนั้นหรอกครับ แต่สำหรับคนที่ไม่มีความจำเป็น และไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการจด VAT ก็ไม่รู้ว่าจะผ่านกระบวนการจด VAT ให้เสียเวลาไปทำไม ในการจดคุณต้องเตรียมเอกสารหลายๆอย่าง ซึ่งรวมไปถึงการถ่ายรูปสถานประกอบการ และเจอกับการเยี่ยมเยียนของเจ้าหน้าที่สรรพากรด้วย

2. ต้องส่งรายงานทุกเดือน

ไม่ว่าคุณจะมีรายได้ รายจ่ายหรือไม่ก็ตาม คุณก็ต้องรายงานให้สรรพากรได้รู้ว่าคุณมี(หรือไม่มี)รายการค้าอะไรบ้าง สำหรับบางคนแล้วมันเป็นเรื่องที่ไร้สาระจริงๆ ก็เปิดมาไม่ได้มีรายการมากมายอะไร เอาไว้รับงาน freelance เล่นๆ ต้องส่งรายงานภาษีทุกเดือนด้วยหรอ? ชีวิตคุณจะเหนื่อยขึ้น อันนี้ก็อาจจะเป็นเหตุผลให้คุณไม่อยากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้

3. ต้องจัดเก็บเอกสารอย่างดี

แน่นอนว่าเมื่อคุณสามารถขอคืนภาษีจากสรรพากรได้ด้วยแผ่นกระดาษ กระดาษ(เอกสาร)ของคุณจะเปลี่ยนหน่วยจากกี่ใบ เป็นกี่บาทเลยทันที เพราะว่าใบกำกับภาษีมีค่า ถ้าหายขึ้นมาเรื่องใหญ่ แม้จะหายแค่ใบเดียว แต่ถ้ามูลค่าเยอะ ก็ทำให้คุณเหนื่อยได้

4. สินค้า/บริการของคุณจะแพงขึ้น

เมื่อคุณอยู่ในระบบ VAT คุณก็ต้องเก็บ VAT จากลูกค้าของคุณ นั้นหมายถึง ถ้าคุณต้องการเงิน 100 บาทเท่ากับคู่แข่งของคุณที่ไม่ได้จด VAT ลูกค้าของคุณต้องจ่าย 107 บาท เทียบกับจ่ายแค่ 100 บาทเมื่อซื้อจากคู่แข่งของคุณ หรือถ้าคุณอยากขายราคาเท่ากัน คุณก็จะได้เงินเพียงประมาณ 93.45 บาท เพราะคุณจะต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปเป็น VAT ด้วย

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ธุรกิจที่ขายของที่เหมือนๆกับคนอื่น เช่น วัสดุก่อสร้าง เหล็ก ปูน มักจะไม่ชอบอยู่ในระบบ VAT กัน เพราะลูกค้าจะเปรียบเทียบราคา ลูกค้าที่ไม่อยู่ในระบบ VAT จะเลือกร้านที่ขายถูกกว่าเพราะว่าเค้าไม่สามารถขอ VAT คืนได้อยู่ดี

จดทะเบียนบริษัท ทุนจดทะเบียน ทุนจดทะเบียนบริษัท จดบริษัท เริ่มต้นธุรกิจ ธุรกิจ SMEs โปรแกรมบัญชี โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ใบเสนอราคา ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน ใบสั่งซื้อ บันทึกค่าใช้จ่าย จัดการสต๊อกสินค้า ผู้ติดต่อ บริหารเงิน จัดการภาษี ระบบเช็ค ระบบบริหาร

 

สรุป ต้องพิจารณาอะไรบ้าง ว่าจะจด หรือไม่จดดี

– ถ้าคุณเลือกโดยดูจากผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นหลัก ก็แนะนำว่าลองดูว่าภาษีซื้อแต่ละเดือนของคุณเยอะขนาดไหน ถ้าภาษีซื้อของคุณประมาณซัก 1-2 พันบาทต่อเดือน ผมว่าก็คุ้มแล้วครับที่จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะว่างานที่งอกขึ้นมา หรือว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างสำนักงานบัญชีที่เพิ่มขึ้นมา มันคุ้มกับภาษีซื้อที่สามารถขอคืนได้

– ถ้าคู่ค้าของคุณอยู่ในระบบ VAT คุณก็ควรจะอยู่ในระบบด้วย เพราะเค้าจะอยากได้ใบกำกับภาษีจากคุณถ้าคุณขายของ/ให้บริการกับเค้า และคุณก็สามารถนำภาษีที่ผู้ขายเก็บจากคุณมาเป็นภาษีซื้อ เพื่อขอคืนได้

– ถ้าคุณอยากดูดี เป็นธุรกิจที่จริงจัง ก็จด VAT ซะ

ทั้งหมดที่ว่ามานี้เป็นเพียงความเห็นจากผมคนเดียวนะครับ โปรดอ่านคำเตือน และอ่านข้อกฏหมายก่อนทุกครั้ง สำหรับเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม เข้าไปดูได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/307.0.html

15 ธุรกิจกับการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
Tagged on:                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                             

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *